เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 9. มหาอัสสปุรสูตร

ภิกษุชื่อว่าพราหมณ์ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นลอย
ได้แล้ว ภิกษุชื่อว่าพราหมณ์ เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่านหาตกะ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นอาบ
ล้างแล้ว ภิกษุชื่อว่านหาตกะ เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าเวทคู เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นรู้แจ้งแล้ว
ภิกษุชื่อว่าเวทคู เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าโสตติยะ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้น
ทำให้หลับหมดแล้ว ภิกษุชื่อว่าโสตติยะ เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าอริยะ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้น
ทำลายได้แล้ว ภิกษุชื่อว่าอริยะ เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าอรหันต์ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ห่างไกลจาก
ภิกษุนั้น ภิกษุชื่อว่าอรหันต์ เป็นอย่างนี้"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาอัสสปุรสูตรที่ 9 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 10. จูฬอัสสปุรสูตร

10. จูฬอัสสปุรสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในอัสสปุรนิคม สูตรเล็ก
การบวชเหมือนมีดสองคม

[435] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของพระราชกุมาร
ชาวอังคะ ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระ
ภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย หมู่ชนย่อมรู้จักเธอทั้งหลายว่า 'สมณะ สมณะ' ก็เธอ
ทั้งหลายเมื่อเขาถามว่า 'ท่านทั้งหลายเป็นอะไร' ก็ปฏิญญาว่า 'เราทั้งหลายเป็น
สมณะ' เมื่อเธอทั้งหลายนั้นผู้มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ ก็ควรสำเหนียกว่า
'เราทั้งหลายจะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้
ชื่อและปฏิญญานี้ของเราทั้งหลายก็จักเป็นความจริงแท้ ใช่แต่เท่านั้น เราทั้งหลาย
ใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด
ปัจจัยทั้งหลายนั้นของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มากเพราะเรา
ทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง บรรพชานี้ของเราทั้งหลายก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มี
ความเจริญ'
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้แล
[436] ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ เป็น
อย่างไร
คือ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีอภิชฌามาก ยังละอภิชฌาไม่ได้ มีจิตพยาบาท ยัง
ละพยาบาทไม่ได้ เป็นผู้มักโกรธ ยังละความมักโกรธไม่ได้ มีความผูกโกรธ ยังละ
ความผูกโกรธไม่ได้ มีความลบหลู่ ยังละความลบหลู่ไม่ได้ มีความตีเสมอ ยังละ
ความตีเสมอไม่ได้ มีความริษยา ยังละความริษยาไม่ได้ มีความตระหนี่ ยังละ
ความตระหนี่ไม่ได้ มีความโอ้อวด ยังละความโอ้อวดไม่ได้ มีมารยา ยังละมารยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :464 }